หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ความมหัศจรรย์ของร่างกาย

สืบเนื่องจากวีดิโอการทำงานของเม็ดเลือดขาว
หมอนอกกะลา ตอนนี้จะพามารับรู้ความมหัศจรรย์ของร่างกายอีกซักหน่อย และอาจกระทบกระเทือนธุรกิจ คลินิก บ้างเล็กน้อย อย่าว่าผมนะ
สิ่งแวดล้อมรอบตัวเรา ทั้งภายในและภายนอกร่างกายเต็มไปด้วยจุลินทรีย์ขนาดเล็กที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น ส่วนใหญ่จุลินทรีย์ที่อยู่รอบตัวเราเหล่านี้ไม่ใช่เชื้อก่อโรคแต่ประการใด แต่ก็มีจุลินทรีย์อีกมากมายที่ก่อให้เกิดโรคติดเชื้อ เรียกว่าเชื้อโรค

เพื่อป้องกันร่างกายจากเชื้อโรคเหล่านี้ มนุษย์เรามีระบบภูมิคุ้มกันที่ทำหน้าที่อย่างทรงประสิทธิภาพในการกำจัดเชื้อโรคออกไป หากภูมิคุ้มกันบกพร่อง แม้จะพัฒนายาต้านจุลชีพที่ดีเลิศเพียงใด ก็อาจจะไม่สามารถรักษาชีวิตคนเราจากโรคติดเชื้อไว้ได้ เพราะการที่จะหายจากโรคติดเชื้อได้นั้น ภูมิคุ้มกันในร่างกายเป็นผู้ช่วยตัวสำคัญที่สุด
ระบบภูมิคุ้มกัน หรือ Immune system คือระบบที่คอยปกป้องร่างกายของเราจากสิ่งแปลกปลอมต่างๆ ที่อาจเข้ามาทำอันตรายร่างกายเราได้ เช่น เชื้อโรคชนิดต่างๆ ได้แก่ แบคทีเรีย ไวรัส ปรสิต รา พยาธิ รวมถึงสิ่งแปลกปลอมอื่นๆ เช่น เซลล์ที่กำลังเจริญเติบโตไปเป็นมะเร็ง อวัยวะของผู้อื่นที่ปลูกถ่ายเข้ามาในร่างกาย การได้รับเลือดผิดหมู่ สารก่อภูมิแพ้ ฯลฯ สิ่งต่างๆ เหล่านี้มีคุณสมบัติเป็นสิ่งแปลกปลอมที่ร่างกายยังไม่รู้จัก เรียกว่า antigen
ระบบภูมิคุ้มกันแบ่งเป็น 2 ระบบครับ
1.Innate immunity คือระบบภูมิคุ้มกันที่ติดตัวมาแต่กำเนิด ได้แก่ พื้นผิวที่สัมผัส antigen โดยตรง คือ ผิวหนังและเยื่อบุต่างๆ ซึ่งมีคุณสมบัติเฉพาะตัวในการป้องกันและกำจัดสิ่งแปลกปลอมซึ่งส่วนใหญ่คือเชื้อโรคออกไปจากร่างกาย ดังนี้
• ผิวหนัง เชื้อโรคไม่สามารถบุกรุกผิวหนังปกติที่ไม่มีบาดแผล อีกทั้งความเป็นกรดของไขมันที่ผลิตออกมาจากต่อมไขมันที่ผิวหนัง ได้แก่ lactic acid และ fatty acid ช่วยยับยั้งและทำลายเชื้อโรค หากผิวหนังชั้นนอกเปิดออก เช่น มีบาดแผล หรือ ไฟไหม้ น้ำร้อนลวก เชื้อแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ที่ผิวหนังก็จะแบ่งตัวเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว เพราะมีอาหารอันอุดมสมบูรณ์และสิ่งแวดล้อมพอเหมาะ เป็นเหตุให้เกิดการอักเสบเป็นหนอง หากเป็นแผลเล็กๆ ระบบภูมิคุ้มกันจะกำจัดเชื้อออกไป เพียงล้างแผลให้สะอาด รักษาแผลให้แห้ง ก็หายเป็นปกติได้เอง แต่ถ้าแผลขนาดใหญ่และลึก แผลถูกความร้อนเป็นบริเวณกว้าง ก็เกินกำลังที่ภูมิคุ้มกันจะจัดการไหว เชื้อโรคสามารถแทรกซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้โดยง่าย ทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด (septicemia) และเป็นสาเหตุให้ช็อกและเสียชีวิตในเวลาต่อมา จึงต้องให้ผู้ป่วยอยู่ในห้องแยกเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ผู้เข้าไปดูแลผู้ป่วยต้องสวมหมวกและเสื้อคลุม ผูกผ้าปิดจมูกและปาก ล้างมือให้สะอาด สวมถุงมือ เพื่อป้องกันการติดเชื้อจากผู้ดูแล อีกทั้งต้องให้ยาปฏิชีวนะที่ครอบคลุมเชื้อโรคให้ครบชนิด
• เยื่อบุหลอดลมมีเซลล์ที่มีขน (hairy cell) คอยพัดโบกเชื้อโรคให้ออกไปจากหลอดลม อีกทั้งมีเซลล์ผลิตเสมหะ (goblet cell) ที่เหนียวหนืด ไว้คอยดักจับเชื้อโรคคล้ายกาวจับแมลงวันเพื่อไม่ให้เข้าสู่เยื่อบุหลอดลม ผู้สูบบุหรี่จัด เซลล์ขนเสียหน้าที่ไป จึงป่วยด้วยโรคหลอดลมอักเสบบ่อยๆ
• น้ำมูก น้ำลาย น้ำตา มีหน้าที่ชะล้างเชื้อโรคออกไปจากเยื่อบุ อีกทั้งในสารคัดหลั่งเหล่านี้ยังมี enzyme ที่มีคุณสมบัติในการย่อยทำลายเชื้อโรคอย่างอ่อนๆ อีกด้วย จะเห็นว่าเมื่อมีสิ่งแปลกปลอมเข้าตา หรือเยื่อบุตาอักเสบ ต่อมน้ำตาจะหลั่งน้ำตาเป็นปริมาณมากออกมาขับไล่สิ่งแปลกปลอมออกไป หรือเมื่อสิ่งแปลกปลอม สารระคายเคืองเข้าจมูกหรือเป็นหวัด เยื่อบุจมูกจะหลั่งน้ำมูกออกมาก และจามบ่อย เพื่อขจัดสิ่งแปลกปลอมเช่นเดียวกันกัน
• การไอช่วยขับไล่สิ่งแปลกปลอมที่เราสำลักเข้าไปในหลอดลมและปอด หากสิ่งแปลกปลอมทำให้เกิดการระคายเคืองมาก เราก็ยิ่งไอนาน ไอจนกว่าจะหลุดออกมา ในผู้สูงอายุระบบต่างๆทำงานเฉื่อยลงรวมถึงการไอด้วย ผู้สูงอายุจึงเป็นปอดอักเสบจากการสำลักได้บ่อย ในผู้ที่จมน้ำก็เช่นกัน ถ้าว่ายน้ำธรรมดา สำลักน้ำเพียงเล็กน้อยมักไม่มีปัญหา สายเสียงและฝาปิดกล่องเสียงจะปิดทันทีเพื่อป้องกันน้ำเข้าไปในหลอดลมเพิ่ม แต่ในกรณีจมน้ำระบบนี้เสียไปเมื่อผู้จมน้ำนานจนหมดสติ น้ำจึงเข้าไปในปอดในปริมาณมาก และถ้าเป็นน้ำครำที่เต็มไปด้วยเชื้อโรคนานาชนิด ทั้งทรงกลม (cocci) ทรงแท่ง (basilli) เชื้อที่ต้องอาศัยออกซิเจน (aerobic bacteria) และไม่อาศัยออกซิเจน (anaerobic bacteria) เชื้อรา โปรโตซัว เกินขีดความสามารถของระบบภูมิคุ้มกันจัดการไหว ต้องกระหน่ำยาต้านจุลชีพหลายขนานอีกแรง จึงปลอดภัยจากปอดอักเสบรุนแรงจากแบคทีเรียในขั้นต้น และไม่ติดเชื้อเข้าสู่กระแสเลือดจนช็อก
• ความเป็นกรดของสารคัดหลั่งในช่องคลอดช่วยป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อก่อโรค
• ความแรงของกรดในกระเพาะอาหารที่ฆ่าเชื้อโรคแทบไม่เหลือ ยกเว้นเชื้อทนกรดเพียงไม่กี่ชนิดเท่านั้น
นอกจากนี้ความสมดุลของเชื้อโรคนานาชนิดที่อาศัยอยู่ตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ยังช่วยป้องกันเชื้อชนิดใดชนิดหนึ่งเจริญเติบโตเพิ่มจำนวนมากจนเป็นก่อโรค
2.Acquired immunity คือภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นภายหลัง หากเชื้อโรคสามารถฝ่าด่านแรกเข้าสู่ใต้เยื่อบุหรือผิวหนังที่มีบาดแผลได้แล้ว เซลล์ต่างๆของระบบภูมิคุ้มกันจะพยายามกำจัดเชื้อโรคเหล่านี้ให้ออกไปพ้นจากร่างกาย เซลล์เหล่านี้เจริญเติบโตมาจาก stem cell อันเป็นเซลล์ต้นตอในไขกระดูก (พบที่รกด้วย) ซึ่งเติบโตแปรสภาพ ไปเป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดต่างๆ เมื่อเซลล์เหล่านี้โตเต็มที่แล้วจึงออกมาสู่กระแสเลือด ล่องลอยไปอยู่ตามอวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกายตามหน้าที่เฉพาะตัวแตกต่างกันไปของเซลล์แต่ละชนิด ซึ่งทำงานสอดคล้องประสานกันเป็นระบบอย่างน่าอัศจรรย์ ดังนี้
• granulocyte เป็นเม็ดเลือดขาวชนิดที่มี granule มากมายในเซลล์ ส่วนใหญ่อยู่ในกระแสเลือด มีหน้าที่กรูกันมาจัดการกับ antigen โดยกิน (engulf) เชื้อแบคทีเรีย ฆ่าปรสิต เมื่อเซลล์เหล่านี้กิน antigen เข้าไปแล้ว ได้ใช้ enzyme ที่อยู่ใน granule ย่อยสลายเชื้อโรคและแปรสภาพเป็นหนอง หากอยู่ในกระแสเลือดก็กลายเป็นซากแล้วถูกกำจัดไป
• monocyte เป็นเม็ดเลือดขาวที่มีจำนวนน้อยในกระแสเลือด มีหน้าที่กินเชื้อโรคในกระแสเลือดและเก็บกินซากที่เกิดจากการทำลายเชื้อโรค
• macrophage เป็น monocyte ที่อยู่ในเนื้อเยื่อ กระจายอยู่ในอวัยวะต่างๆ เมื่อกิน antigen เข้าไปแล้ว จะทำหน้าที่เป็น antigen presenting cell (APC) คือส่งสัญญาณจากantigen ต่อมาให้เซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด T lymphocyte เพื่อรับหน้าที่ต่อไป
• dendritic cell มีหน้าที่เช่นเดียวกับ macrophage
• lymphocyte เป็นเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันที่ทำหน้าที่แข็งขันที่สุด แบ่งตามหน้าที่เป็น 2 ชนิด คือ
1.B lymphocyte เมื่อสัมผัสกับ antigen แล้ว จะเปลี่ยนไปเป็น plasma cell มีหน้าที่ผลิตภูมิคุ้มกันด้านสารน้ำเรียกว่า humoral immunity (HI) คือภูมิต้านทาน (antibody) ที่จำเพาะต่อเชื้อนั้น ประกอบด้วยโปรตีน globulin ชนิดต่างๆ เรียกว่า immunoglobulin มีทั้งหมด 5 กลุ่ม คือ IgG, IgA, IgM, IgD, IgE ทำหน้าที่จับติดกับ antigen แล้วทำลายด้วยวิธีต่างๆที่สลับซับซ้อน ส่วนใหญ่ภูมิต้านทานเหล่านี้จะอยู่ในร่างกายไปตลอดชีวิต เพราะมีเซลล์ที่แปรสภาพเป็นเซลล์ความจำ (memory cell) ทำหน้าที่จำเชื้อที่เคยพบแล้ว เมื่อเชื้อเดิมเข้าสู่ร่างกายอีกครั้ง เซลล์ความจำก็จะระดมพลเพื่อสร้าง immunoglobulin ออกมาในปริมาณมากทันทีภายในสัปดาห์แรกที่ติดเชื้อ จึงสามารถกำจัดเชื้อโรคออกไปโดยไม่ทันก่อโรค ต่างจากการติดเชื้อในครั้งแรกที่ระดับภูมิต้านทานขึ้นในสัปดาห์ที่ 2
2.T lymphocyte เริ่มงานเมื่อได้รับสัญญาณจาก APC มีหน้าที่สร้างภูมิคุ้มกันด้านเซลล์ เรียกว่า cell-mediated immunity (CMI) ที่สำคัญมี 3 ชนิด คือ
• T helper หรือ CD4 มีหน้าที่ส่งเสริมภูมิคุ้มกัน เมื่อได้รับสัญญาณจาก APC มันจะกลายเป็น sensitized T cell ที่มีอานุภาพสูง หลั่งสารมากมายหลายชนิดออกมาจากเซลล์เรียกว่าcytokines เพื่อกระตุ้นเซลล์ชนิดต่างๆในระบบภูมิคุ้มกันให้เพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็วเหมือนระดมพล และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำลายเชื้อโรคเหมือนทหารที่ฮึกเหิมพร้อมออกศึก
• T suppressor หรือ CD8 มีหน้าที่ทำลายเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอม อีกทั้งยับยั้งการทำงานของเซลล์ภูมิคุ้มกันเมื่อหมดความจำเป็นแล้ว ไม่เช่นนั้นจะเกิดความเสียหายต่อร่างกายจากการทำงานที่เกินเลยของระบบภูมิคุ้มกัน
• natural killer cell เป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวที่มีหน้าที่ทำลายเซลล์มะเร็ง และเซลล์ที่ติดเชื้อไวรัสเป็นหลัก
จะเห็นว่าเซลล์เหล่านี้ทำงานประสานกันอย่างดีเยี่ยม เพื่อรักษาสมดุลของระบบภูมิคุ้มกันไม่มากไปหรือน้อยไปจนเกิดความเสียหายตามมา
เรารู้จักเซลล์เหล่านี้ดีเมื่อโรคเอดส์ระบาด เพราะโรคเอดส์เกิดจากเชื้อ Human Immunodeficiency Virus ( HIV) ไปทำลายเซลล์ CD4 ส่งผลให้ภูมิคุ้มกันด้านเซลล์บกพร่องเป็นหลัก จึงติดเชื้อฉวยโอกาสง่าย
ภูมิคุ้มกันมาจากไหน
ภูมิคุ้มกันที่ผ่านทางรกจากแม่สู่ลูกขณะอยู่ในครรภ์ ส่วนใหญ่เป็น IgG ภูมิคุ้มกันเหล่านี้จะค่อยๆ ลดลงและหมดไปเมื่อทารกอายุ 6 เดือน ทารกแรกคลอดจึงได้ภูมิคุ้มกันนี้คอยป้องกันโรคต่างๆ ขณะร่างกายยังอ่อนแอ
• ภูมิคุ้มกันที่ได้จากน้ำนมแม่ ส่วนใหญ่เป็น IgA
• ภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างขึ้นเมื่อมีการติดเชื้อตามธรรมชาติ โดยระบบภูมิคุ้มกันจะสร้างภูมิต้านทานต่อเชื้อเหล่านั้นและส่วนใหญ่คงอยู่ในร่างกายตลอดชีวิต หากเชื้อเดิมเข้าสู่ร่างกายอีก ก็จะถูกกำจัดออกไปโดยไม่ทำให้เกิดโรค เช่น หัด หัดเยอรมัน คางทูม สุกใส ไวรัสตับอักเสบบี
• ภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการได้รับวัคซีน (active immunity) เป็นการเลียนแบบการติดเชื้อในธรรมชาติ โดยใช้เชื้อที่ทำให้อ่อนฤทธิ์ หรือบางส่วนของเชื้อที่มีคุณสมบัติเป็น antigen เข้าสู่ร่างกายเพื่อกระตุ้นร่างกายให้สร้างภูมิคุ้มกันโดยไม่เกิดโรคอย่างการติดเชื้อโดยธรรมชาติ ได้แก่ วัคซีนชนิดต่างๆ ที่ให้ในเด็กประมาณ 20 ชนิด และวัคซีนผู้ใหญ่อีกหลายชนิด
• ภูมิคุ้มกันที่ผลิตขึ้นเพื่อใช้ฉีดเข้าไปในร่างกายให้ออกฤทธิ์ทันที (passive immunity) เรียกว่า immunoglobulin ใช้ในกรณีที่รอให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันไม่ทัน ภูมิคุ้มกันเหล่านี้อยู่ในร่างกายไม่นานก็หมดไป มีทั้งชนิดรวมคือมีฤทธิ์ต้านทาน antigen หลายชนิด คือintravenous immunoglobulin (IVIG) และชนิดเฉพาะเจาะจงต่อเชื้อแต่ละอย่าง เช่น ภูมิต้านทานไวรัสตับอักเสบบี hepatitis B immunoglobulin (HBIG) ใช้ฉีดให้ทารกที่คลอดจากแม่ที่เป็นพาหะไวรัสตับอักเสบบี เพื่อป้องกันทารกติดเชื้อขณะคลอด หลังจากนั้นจึงฉีดวัคซีนเพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาเอง นอกจากนี้ยังมีภูมิต้านทานโรคพิษสุนัขบ้า rabies immunoglobulin (RIG) โรคบาดทะยัก tetanus antitoxin (TAT) ภูมิต้านทานพิษงูที่เราเรียกกันว่าเซรุ่มต้านพิษงู (antivenom)
จะเห็นได้ว่าระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเริ่มมีบทบาทตั้งแต่แรกเกิด คือ 6 เดือนแรกเป็นภูมิคุ้มกันที่ได้รับจากแม่ และน้ำนมแม่ ต่อมาเด็กเริ่มสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นเองในร่างกายจากการติดเชื้อแต่ละครั้ง บางครั้งการติดเชื้อเกิดอาการน้อย หรือไม่เกิดอาการ แต่เมื่อตรวจเลือดก็พบภูมิคุ้มกันขึ้นแล้ว อย่างเช่น ไวรัสตับอักเสบเอ บี
เราจึงพบเด็กเล็กโดยเฉพาะเด็กชั้นอนุบาลเป็นไข้กันบ่อย เชื้อไวรัสที่ทำให้เด็กป่วยมีกว่า 100 ชนิด ติดเชื้อแต่ละครั้งก็สร้างภูมิต้านทานต่อเชื้อนั้น ติดโรคกันไปติดโรคกันมา กว่าจะสั่งสมภูมิคุ้มกันครบก็เข้าสู่วัยชั้นประถมฯ สังเกตได้ว่าเด็กชั้นประถมฯไม่ค่อยป่วยแล้ว
ส่วนเชื้อโรคที่มีวัคซีนป้องกัน ก็สร้างภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีน กว่าจะฉีดครบก็อายุ 6-7 ขวบ พอโตเป็นผู้ใหญ่เราก็มีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสเกือบครบชนิด ไม่ค่อยป่วยด้วยโรคติดเชื้อกันอีก แต่หากมีเชื้อโรคพันธุ์ใหม่ที่ร่างกายไม่เคยสัมผัสมาก่อน จึงยังไม่มีต้านทานต่อเชื้อโรคนั้น จึงมักก่อโรครุนแรง ยิ่งเกิดในเด็กยิ่งมีอาการรุนแรงกว่าผู้ใหญ่ ที่เรารู้จักกันดีคือ ไวรัสไข้หวัดใหญ่ 2009 ไวรัสไข้หวัดนกและไวรัสซาร์ส (SARS) ที่โด่งดังสร้างความหวาดกลัวไปทั่วโลก
ร่างกายเราเต็มไปด้วยจุลินทรีย์อาศัยอยู่ทั่วไป ทั้งที่ผิวหนัง ในปาก จมูก ลำไส้ใหญ่ ช่องคลอด จุลินทรีย์เหล่านี้เป็นจุลินทรีย์ประจำถิ่นเรียกว่า normal flora อยู่กันอย่างสมดุลในร่างกาย หากมีสาเหตุให้เสียสมดุลก็เกิดโรคได้ เช่น การรับประทานยาต้านจุลชีพเป็นเวลานาน จุลินทรีย์ที่ไวต่อยาถูกทำลายไปหมด เหลือจุลินทรีย์ดื้อยาที่ก่อโรคร้ายแรง การสวนล้างช่องคลอดด้วยยาฆ่าเชื้อเป็นเวลานาน ทำให้เชื้อแบคทีเรียตายไป เชื้อราเจริญเติบโตขึ้นมาแทนที่ เป็นเหตุให้ช่องคลอดอักเสบจากเชื้อรา พบบ่อยในสาวรักสะอาดทั้งหลาย ยาต้านจุลชีพบางชนิดฆ่าเชื้อในลำไส้ใหญ่ เหลือเชื้อดื้อยาตัวร้าย เป็นเหตุให้ลำไส้ใหญ่อักเสบรุนแรง (pseudomembranous colitis)
รอบตัวเราเต็มไปด้วยจุลินทรีย์ที่ล่องลอยอยู่ในอากาศ ในน้ำ ในดิน เราจึงควรป้องกันจุลินทรีย์เหล่านี้ไม่ให้เข้าสู่ร่างกายโดยง่าย ด้วยการรักษาสุขอนามัยให้ดี คือรับประทานอาหารสะอาดและทำสุกใหม่ๆ ตัดเล็บให้สั้น ล้างมือให้สะอาดเสมอโดยเฉพาะก่อนหยิบอาหารเข้าปาก ไม่ไปอยู่ในที่แออัด อากาศถ่ายเทไม่สะดวก แสงแดดส่องไม่ถึง อันเป็นแหล่งเชื้อโรค อย่างในโรงหนังที่ปิดทึบ ห้างสรรพสินค้าที่มีผู้คนพลุกพล่าน ไม่ไอ จาม รดกัน ไม่คลุกคลีกับผู้ป่วย หากจำเป็นให้ใช้ผ้าปิดปากและจมูก ก็ช่วยป้องกันโรคติดต่อได้เป็นอย่างดี ไม่ควรรับประทานยาพร่ำเพรื่อเกินความจำเป็น โดยเฉพาะยาชุด สมุนไพรบางชนิด หรือยาลูกกลอนที่รับประทานเพื่อให้เจริญอาหาร แก้ปวดข้อ รักษาโรคหืด ฯลฯ เพราะยาลูกกลอน สมุนไพรที่ไม่ได้รับการรับรองมักผสม steroid อันเป็นยากดภูมิคุ้มกัน หากกินนานไป ภูมิคุ้มกันลดต่ำลง มีโอกาสติดเชื้อรุนแรงและรักษายาก อาจถึงขั้นช็อก จนไม่สามารถรักษาชีวิตไว้ได้
ดังนั้นหากเรารักษาสุขอนามัยดี ร่างกายแข็งแรง ภูมิคุ้มกันดี ไม่กินยาพร่ำเพรื่อเกินความจำเป็น แม้ติดเชื้อก็มีอาการไม่รุนแรง และหายในเวลาอันรวดเร็วด้วยภูมิคุ้มกันอันแสนวิเศษในร่างกายเราเอง จนแทบไม่ต้องพึ่งยาต้านจุลชีพใดๆ แต่หากภูมิคุ้มกันบกพร่องขึ้นมาละก็ ต่อให้มียาที่ดีเลิศเพียงใด อาจไม่สามารถรักษาชีวิตไว้ได้ ดังผู้ป่วยโรคเอดส์ที่มักจบชีวิตลงด้วยโรคติดเชื้อเมื่อภูมิคุ้มกันลดต่ำมากในระยะท้ายของโรค ทั้งที่ให้ยาต้านจุลชีพอย่างเต็มที่แล้วก็ตาม
ก่อนลาก็อยากให้ ท่านทั้งหลายใคร่ครวญนะ ถ้าไม่สบาย ก็อย่ารีบไปหายามาทานซะก่อน การทำแบบนั้นเป็นการ spoil ภูมิคุ้มกันตัวเองครับและไม่นาน เขาก็จะทำงานไม่เป็น ก็น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่งครับ รักษาสุขภาพกันนะครับ สวัสดี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น