หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ธาตุเหล็ก ที่เด็กขาดไม่ได้

ธาตุเหล็ก ที่เด็กขาดไม่ได้ (หมอนอกกะลา)
คุณแม่ทั้งมือใหม่มือเก่าก็ยังคงเป็นกังวลกับการดูแลลูก ว่าจะทำอย่างไรให้เด็กน้อยสมบูรณ์แบบที่สุด และจากงานวิจัยที่ผมได้อ่านเป็นจำนวนมาก ก็พบปัญหาหนึ่งที่เกิดกับเด็กที่ดื่มนมแม่มากที่สุดคือ ขาดธาตุเหล็ก จากการรับประทานอาหารที่ไม่ถูกต้องของตัวคุณแม่เอง และเด็กน้อยหลังหกเดือนไปแล้วเขาก็ยังต้องการธาตุเหล็กอยู่ วันนี้มาทำความเข้าใจกันให้ชัด ๆ เพื่อคลายความกังวลกันครับคุณแม่ทั้งหลาย รวมถึงตัวผมเองด้วย เพราะผมก็ต้องการธาตุเหล็กสูงจากการบริจาคเลือดทุก 3 เดือนครับ
ธาตุเหล็ก

สารอาหารที่ช่วยพัฒนาสมองให้ลูกน้อย ธาตุเหล็ก เป็นสารอาหารที่ร่างกายต้องการไม่มาก แต่มีความสำคัญต่อการพัฒนาสมองสูง เมื่อเรากินอาหารที่มีธาตุเหล็กธาตุเหล็กมันก็จะกระจายไปสู่ไขกระดูก และเม็ดเลือดแดงที่ไหลเวียนไปทั่วร่างกายทำหน้าที่นำออกซิเจนไปสู่เซลล์ต่างๆ และช่วยขจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากร่างกาย ถ้าร่างกายได้รับอาหารที่มีธาตุเหล็กไม่เพียงพอ หรือธาตุเหล็กที่ร่างกายสะสมไว้ลดน้อยลง เม็ดเลือดแดงที่นำออกซิเจนไปให้ร่างกายได้ใช้ก็จะลดน้อยลง จึงทำให้ร่างกายมีอาการอ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ไม่มีสมาธิ ผิวพรรณซีดเซียว และเกิดเลือดจางในที่สุด
ภาวะพร่องหรือขาดเหล็กแบ่งได้เป็น ๓ ระดับ
ระดับเล็กน้อย เหล็กที่สะสมในร่างกายพร่องลงหรือขาดไปบ้าง
ระดับปานกลาง เหล็กที่สะสมในร่างกายหมดไปจนขาดธาตุเหล็กในการสร้างเม็ดเลือดแดง ทำให้เกิดอาการเหนื่อยง่าย มีอารมณ์ฉุนเฉียวง่าย สมาธิในการทำงานจะน้อยลง ระบบภูมิคุ้มกันลดลง ทำให้เป็นหวัดและติดเชื้อง่าย
การขาดเหล็กระดับรุนแรง ร่างกายจะดึงธาตุเหล็กตามอวัยวะต่างๆ ออกมาใช้ในการสร้างเม็ดเลือดแดง เช่น นำธาตุเหล็กจากบริเวณเปลือกตาล่างด้านใน ริมฝีปาก ผิวหนัง เป็นต้น หากถึงระดับรุนแรงจะทำให้ร่างกายเกิดอาการซีดเซียวอย่างมาก
หลายคนเข้าใจผิดว่าถ้าขาดธาตุเหล็กเมื่อใด สิ่งที่เป็นอันตรายคือมีอาการซีด แต่ที่จริงแล้วผลร้ายจากการขาดธาตุเหล็กเกิดขึ้นก่อนที่จะมีอาการซีดเสียอีก
การขาดธาตุเหล็กในระดับเล็กน้อยถึงปานกลางเป็นระยะเวลานานจะมีผลกระทบต่อระบบการเรียนรู้ บุคลิกภาพ และการเจริญเติบโตของเด็กทารก เด็กก่อนวัยเรียน และเด็กวัยเรียน นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกันโรคและการเจ็บป่วยในทุกกลุ่มอายุ รวมทั้งทำให้การใช้พลังงานของร่างกายมีประสิทธิภาพลดลง สำหรับในหญิงตั้งครรภ์ที่ขาดธาตุเหล็กจะเพิ่มความเสี่ยงของการแท้งและการตกเลือดระหว่างคลอด หรือการคลอดทารกที่มีน้ำหนักแรกเกิดต่ำกว่าเกณฑ์อีกด้วยครับ
ธาตุเหล็กมีความสำคัญต่อพัฒนาการและการเรียนรู้ ในเด็กทารกแรกเกิดจนอายุ ๒ ขวบเป็นอย่างมาก หากเกิดภาวะเลือดจางจากการขาดธาตุเหล็กในช่วงวัยนี้โดยที่ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงที จะส่งผลต่อศักยภาพการเรียนรู้อย่างถาวร ทำให้เด็กไม่สามารถพัฒนาได้เท่ากับเด็กปกติ การรักษาโดยการเสริมธาตุเหล็กในภายหลังจะแก้ไขได้เพียงภาวะเลือดจาง แต่ไม่ช่วยให้พัฒนาการดีขึ้นทัดเทียมกับเด็กที่ไม่มีการขาดธาตุเหล็ก ดังนั้น การดูแลและป้องกันไม่ให้เกิดการขาดธาตุเหล็กในเด็กจึงมีความสำคัญมาก หากผู้ใหญ่ขาดธาตุเหล็กก็จะทำให้ร่างกายอ่อนแอเป็นโรคต่างๆ ได้ง่ายขึ้นครับ
มาทำความรู้จักกับธาตุเหล็กก่อนครับ ธาตุเหล็กเป็นส่วนประกอบของโปรตีนในร่างกายหลายชนิด ที่สำคัญคือเป็นส่วนประกอบของเม็ดเลือดแดง ธาตุเหล็ก ยังเป็นส่วนประกอบสำคัญของสารสื่อประสาท ช่วยในการพัฒนาสมองของเด็ก ในทารกทุกคนที่เกิดครบกำหนด เขาจะได้รับธาตุเหล็กจากแม่ สะสมไว้ใช้ในช่วงแรกของชีวิต นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำไมหญิงตั้งครรภ์ทั้งหลายต้องกินธาตุเหล็กเสริม ส่วนใหญ่ธาตุเหล็กที่สะสมไว้ในทารกนี้ จะเพียงพอต่อการเจริญเติบโตประมาณ 6 เดือนเท่านั้น หลังจากนั้น ทารกจำเป็นต้องได้รับจากอาหาร
ในนมแม่มีธาตุเหล็กต่ำ ถ้านำนมไปวิเคราะห์สารอาหารจะพบว่านมแม่มีธาตุเหล็กต่ำกว่านมผง แต่เป็นธาตุเหล็กที่ทารกสามารถดูดซึมและำนำไปใช้ได้ดีกว่า และทารกปกติในช่วง 6 เดือนแรกของชีวิต ทารกก็ไม่มีความจำเป็นต้องได้ธาตุเหล็กมากมายจนเกินไป เนื่องจากมีการสะสมอยู่ในร่างกายอยู่แล้ว ส่วนทารกที่ไม่ปกติ เช่น ทารกเกิดก่อนกำหนด ทารกน้ำหนักแรกเกิดน้อย เป็นทารกที่เสี่ยงต่อการขาดธาตุเหล็ก ซึ่งในกรณีนี้ต้องให้กินธาตุเหล็กเสริมควบคู่ไปกับการกินนมแม่
ในประเทศไทย พบทารกอายุประมาณ 9-12 เดือนมีการขาดธาตุเหล็กกันอยู่พอสมควร ซึ่งจากการวิเคราะห์พบว่าเกิดจากการกินอาหารตามวัยที่ไม่เหมาะสมครับ
เรื่องของโภชนาการสำหรับทารกในขวบปีแรก สิ่งที่ดีที่สุด ก็คือการให้กินนมแม่ ควบคู่ไปกับอาหารตามวัยที่ถูกต้องเหมาะสม เราก็จะทำให้ทารกมีสุขภาพแข็งแรง เติบโตสมวัย และฉลาดครับ
ธาตุเหล็ก (Iron) มีความสำคัญต่อร่างกายอย่างมากในการผลิตเฮโมโกลบิน ไมโอโกลบินและเอนไซม์บางชนิด และมีความจำเป็นต่อกระบวนการเผาผลาญของ วิตามินบี โดยทองแดง โคบอลต์ แมงกานีส วิตามินซี มีความสำคัญอย่างมากต่อการดูดซึมของธาตุเหล็ก แต่ วิตามินอี และสังกะสี ที่มีมากเกินไป จะขัดขวางการดูดซึมของธาตุเหล็กเสียเอง ธาตุเหล็กที่เรารับประทานเข้าไปในร่างกายนั้น มักจะถูกดูดซึมเข้ากระเลือดได้เพียงแค่ 8% เท่านั้นเองครับ
ในร่างกายจะมีธาตุเหล็กประมาณ 4 กรัม แต่ขนาดที่แนะนำให้รับประทานต่อวันสำหรับผู้ใหญ่คือประมาณ 10 – 15 มิลลิกรัม สำหรับหญิงตั้งครรภ์ประมาณ 30 มิลลิกรัมต่อวันครับ
สำหรับผู้หญิงที่มีประจำเดือนมามาก ผู้ที่รับประทานมังสวิรัติ หรือควบคุมอาหาร คุณควรได้รับธาตุเหล็กเสริม สำหรับผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน ร่างกายอาจจะไม่ต้องการธาตุเหล็กเสริมอีก ผู้ที่รับประทานยาแอสไพริน อินโดซิน ยาแก้อักเสบทุกวัน ร่างกายควรได้รับธาตุเหล็กเสริม สำหรับผู้ที่กำลังเป็นโรคติดเชื้อ ไม่ควรรับประทานธาตุเหล็กเสริม เพราะจะช่วยเพิ่มจำนวนของแบคทีเรียได้ สำหรับผู้ที่ดื่มกาแฟหรือชาเป็นประจำ อาจไปขัดขวางการดูดซึมของธาตุเหล็กได้ สำหรับผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ หากจะรับประทานธาตุเหล็กเสริม ควรปรึกษาแพทย์ก่อน เพราะเคยมีรายงานว่าเด็กมีอาการเป็นพิษจากธาตุดังกล่าวเนื่องจากมารดารับประทานธาตุเหล็กมากเกินไปในขณะตั้งครรภ์
โดยทั่วไปธาตุเหล็กในอาหารจะอยู่ใน ๒ รูปแบบครับ คือ สารประกอบฮีม (heme iron) และสารประกอบที่ไม่ใช่ฮีม (nonheme iron)
ธาตุเหล็กในรูปแบบสารประกอบฮีม
พบมากในแหล่งอาหารที่เป็นเนื้อสัตว์ เช่น เลือด ตับ เนื้อสัตว์ต่างๆ โดยเฉพาะเนื้อแดง ร่างกายจะสามารถดูดซึมและนำไปใช้ได้ดี สามารถดูดซึมได้ถึงประมาณร้อยละ ๒๐-๓๐ คนที่มีความต้องการธาตุเหล็กสูงควรกินอาหารประเภทนี้เป็นประจำ สัปดาห์ละ ๑-๒ ครั้ง
สารประกอบธาตุเหล็กที่ไม่ใช่ฮีม
พบได้ในอาหารประเภท ธัญพืช แป้ง ไข่ ผักใบเขียวเข้ม เช่น ผักคะน้า ผักบุ้ง รวมทั้งถั่วเมล็ดแห้งต่างๆ แต่ธาตุเหล็กที่ไม่ใช้ฮีม ร่างกายจะดูดซึมธาตุเหล็กไปใช้ได้น้อยกว่าประเภทฮีมมาก กล่าวคือสามารถดูดซึมได้เพียงร้อยละ ๓-๕ เท่านั้น ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากอาหารประเภทนี้ต้องอาศัยกรดเกลือในกระเพาะอาหาร เพื่อช่วยทำให้ธาตุเหล็กออกมาจากอาหารก่อน จากนั้นร่างกายจึงสามารถดูดซึมที่เยื่อบุผิวของลำไส้เล็กได้
อย่างไรก็ตาม การดูดซึมสารประกอบธาตุเหล็กที่ไม่ใช่ฮีมนี้จะดียิ่งขึ้นถ้ากินร่วมกับเนื้อสัตว์ หรืออาหารที่มีวิตามินซีสูง จำพวก ฝรั่ง มะละกอ ส้ม เป็นต้น
ในทางตรงกันข้ามสารไฟเตต (phytate) พบในข้าวที่ไม่ได้ขัดสี พืชใบสีเขียวเข้ม ถั่วเมล็ดแห้ง เช่น ถั่วเหลือง และสารแทนนิน ที่พบในน้ำชา กาแฟ จะขัดขวางการดูดซึมธาตุเหล็ก ดังนั้น ผู้ที่ไม่นิยมกินอาหารเนื้อสัตว์ การรู้จักจัดองค์ประกอบของอาหารที่กินอย่างเหมาะสมจะทำให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กที่ไม่ใช่ฮีมไปใช้ได้ดีขึ้นครับ
o สำหรับนักมังสวิรัติ ควรกินวิตามินซีหรืออาหารที่ให้วิตามินซีสูงไปพร้อมกับพืชผักที่มีธาตุเหล็กสูง เช่น ผักกูด ผักแว่น ใบแมงลัก เห็ดฟาง พริกหวาน กะเพราแดง ขึ้นฉ่าย หรือถั่วเมล็ดแห้งต่างๆ เพื่อช่วยในการดูดซึมและนำไปใช้ได้ดีขึ้น
อาหารที่มีธาตุเหล็กสูง มีดังนี้
ผัก – ผักที่มีธาตุเหล็กสุงได้แก่ ผักกูด ถั่วฟักยาว ผักแว่น เห็ดฟาง พริกหวาน ใบแมงลัก ใบกะเพราะ ผักเม็ก มะกอก ยอดกระถิน ดอกโสน ต้นหอม มะเขือพวง ใบขี้เหล็ก มะเขือเทศ ผักกาดหอม ฟักทอง มันเทศ เผือก และผักใบเขียวชนิดอื่นๆ
o ธาตุเหล็กที่อยู่ในรูปอาหารเสริม เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง สำหรับเด็ก สตรีมีครรภ์ และสตรีที่ให้นมบุตร ที่ไม่สามารถรับธาตุเหล็กได้อย่างเพียงพอจากอาหาร ธาตุเหล็กในรูปเม็ดจะดูดซึมได้ดีที่สุดเวลาท้องว่าง นั่นคือควรรับประทานระหว่างมื้ออาหาร แต่ธาตุเหล็กอาจทำให้ถ่ายมากขึ้น หรือถ่ายเหลวในบางคน จึงจำเป็นต้องรับประทานพร้อมอาหาร แต่ไม่ควรรับประทานพร้อมกับนม เพราะแคลเซียมในนมจะทำให้การดูดซึมธาตุเหล็กลดลง เมื่อร่างกายได้รับธาตุเหล็กที่เพียงพอแล้ว เม็ดเลือดแดงจะกลับมามีจำนวนเป็นปกติได้ภายใน 2 เดือน แต่ควรเสริมธาตุเหล็กต่อไปอีก 6 เดือนถึง 1 ปี เพื่อให้ร่างกายมีสะสมไว้ใช้ในเวลาจำเป็น ทั้งนี้ไม่ควรละเลยการเลือกรับประทานอาหารที่เป็นแหล่งธาตุเหล็กสูงด้วย
คำนวณธาตุเหล็กแบบง่าย ๆครับ
เลือดวัว 100 กรัม มีธาตุเหล็ก 44.1 มิลลิกรัม
o เลือดหมู 100 กรัม มีธาตุเหล็ก 25.9 มิลลิกรัม
o หมูหยอง 100 กรัม มีธาตุเหล็ก 17.8 มิลลิกรัม
o ตับหมู 100 กรัม มีธาตุเหล็ก 10.5 มิลลิกรัม
10 ผักไทย ให้ธาตุเหล็กสูงครับ
1. ผักกูด 36.3 มิลลิกรัม/ 100 กรัม
2. ถั่วฝักยาว 26 มิลลิกรัม/ 100 กรัม
3. ผักแว่น 25.2 มิลลิกรัม/ 100 กรัม
4. เห็ดฟาง 22.2 มิลลิกรัม/ 100 กรัม
5. พริกหวาน 17.2 มิลลิกรัม/ 100 กรัม
6. ใบแมงลัก 17.2 มิลลิกรัม/ 100 กรัม
7. ใบกะเพรา 15.1 มิลลิกรัม/ 100 กรัม
8. ผักเม็ก 11.6 มิลลิกรัม/ 100 กรัม
9. มะกอก (ยอด) 9.9 มิลลิกรัม/ 100 กรัม
10. กระถิน (ยอดอ่อน) 9.2 มิลลิกรัม/ 100 กรัม
อย่าลืม
ตัว ที่ส่งเสริมการดูดซึมธาตุเหล็ก คือวิตามินซี ดังนั้นการปรุงอาหาร ควรปรับเพื่อส่งเสริมให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กได้จำนวนมากขึ้น วิธีนั้นง่ายมาก คือเพิ่มวิตามินซีรูปแบบต่างๆ ลงในอาหาร เช่นอาหารพวกยำต่างๆ ที่มีการบีบมะนาวลงไป
เมนูตับง่ายๆ เสริมธาตุเหล็กลูกวัย 6-12 เดือนครับ
เมนูตับ เป็นเมนูอาหารเสริมให้ลูกวัย 6-12 เดือน ที่มีธาตุเหล็กและมีคุณค่าทางโภชนาการสูง
ตับ...มากประโยชน์
หลัง 6 เดือนไปแล้ว นมแม่จะมีธาตุเหล็กไม่เพียงพอกับเด็กวัยขวบปีแรก การได้อาหารตามวัยคุณแม่ควรเลือกอาหารที่มีธาตุเหล็กสูงให้ลูก หนึ่งในแหล่งธาตุเหล็กชั้นดีก็คือตับนั่นเอง มาดูกันว่าตับเป็นอาหารที่มีประโยชน์ในด้านไหนกันบ้าง
-โปรตีน เสริมสร้างกล้ามเนื้อ
-ธาตุเหล็กสูง ช่วยเสริมสร้างฮีโมโกบิน ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของเม็ดเลือดแดง ทำหน้าที่นำออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย
-วิตามินเอ ที่ช่วยบำรุงรักษาผิวหนัง เส้นผม ทำให้เนื้อเยื่อในตาแข็งแรง สายตาดี มองเห็นได้ชัดในที่มีแสงสว่างน้อย
-วิตามินบี 3 ทำให้ลำไส้มีสุขภาพดี ระบบย่อยเป็นปกติ กล้ามเนื้อทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
-วิตามินบี 5 ช่วยให้ร่างกายสามารถนำคาร์โบไฮเดรตและโปรตีนมาใช้ประโยชน์ได้สูงสุด
-วิตามิน บี 6 สร้างเม็ดเลือดแดงใหม่ๆ ให้กับร่างกาย
-วิตามิน บี 12 บำรุงประสาทให้แข็งแรง ทำให้สมองทำงานได้ดี ความจำดี และทำให้การสร้างเลือดเป็นปกติ
เลือกตับให้เหมาะกับลูก
การเลือกตับให้เหมาะสำหรับเด็กวัย 6-8 เดือนนั้น แม่ๆ ส่วนใหญ่นิยมให้ตับไก่เพราะเนื้อนิ่ม จึงควรเลือกที่สีอ่อน หากซื้อตอนเช้าจะได้ตับที่สด และควรปรุงอาหารในวันเดียวกัน ไม่ควรเก็บตับที่ซื้อมาเกิน 24 ชั่วโมง เนื่องจากตับจะเสียง่าย ส่วนการเลือกซื้อตับหมู ควรเลือกตับที่สดเนื้อขึ้นเงา สีอ่อนไม่แดงเข้ม เนื้อตับจะไม่กระด้าง
เทคนิคการปรุงตับ
ที่ช่วยปรุงตับไม่ขม ไม่คาว และไม่แข็ง แถมนิ่ม อร่อย ต้องใช้วิธีนี้
1.เลือกซื้อตับที่สด
2.ล้างตับด้วยเกลือป่น ช่วยลดความคาวของตับ
3.หมักด้วยซีอิ๊วหรือนมสดเล็กน้อยประมาณ 15-30 นาทีก่อนนำมาปรุงอาหาร ช่วยลดความคาวของตับ
4.นำตับไปลวกด้วยน้ำร้อนจัด ช่วยลดความขมและกลิ่นคาว
5.การผัดตับด้วยน้ำมันที่ร้อน ในช่วงเวลาสั้นๆ จะทำให้ตับนิ่ม อร่อยและไม่คาว
เมนูอาหารเด็ก เมนูตับ (ให้เลือกเกลือสมุทรที่ไม่ฟอกสีนะครับ อย่าลืม)
โจ๊กตับ (6-8 เดือน)
เครื่องปรุง : ปลายข้าวกล้อง 2 ช้อนโต๊ะ
ฟักทองหั่นชิ้นเล็ก ¼ ถ้วย
หมูสันนอกหั่นชิ้นหนา 1 นิ้ว 1 ขีด
ตับไก่ 1 ชิ้น
ผักกาดขาวหั่นฝอย ¼ ถ้วย
เกลือป่น ¼ ช้อนชา
น้ำเปล่า 1 ถ้วย
วิธีทำ
1.คลุกเคล้าตับไก่กับเกลือป่น แล้วล้างน้ำเพื่อดับกลิ่นคาว พักใส่ชาม
2.ต้มปลายข้าวกล้องกับน้ำ พอเดือดใส่ฟักทอง ผักกาดขาวและหมูสันนอก เร่งไฟให้เดือด ใส่ตับไก่ คนให้สุกทั่ว
3.เทส่วนผสมใส่หม้อตุ๋นประมาณ 2-3 ชั่วโมง คนข้าวตุ๋นบ้างเพื่อไม่ให้ข้าวไหม้ติดก้นหม้อตุ๋น
Tip
การตักโจ๊กตับป้อนลูกในมื้อแรกที่เริ่มอาหารเสริม ควรตักเฉพาะส่วนที่เป็นโจ๊กและฟักทองที่เปื่อย สำหรับตับและเนื้อหมู การตุ๋นช่วยให้โปรตีน วิตามินและเกลือแร่บางส่วนละลายในน้ำ ทำให้เหมาะต่อการย่อยการดูดซึม มื้อที่สองให้ตักแบ่งตับไก่ เนื้อหมูอย่างละ 1- 2 ช้อนชาแล้วบดผ่านกระชอนให้ละเอียดนำมาคลุกเคล้ากับโจ๊ก เป็นการเพิ่มปริมาณสารโปรตีนและฝึกให้หนูน้อยคุ้นเคยกับการกินตับ มื้อถัดไปจึงเพิ่มปริมาณเป็น 1 ช้อนโต๊ะ พร้อมกับสังเกตการย่อยอาหารของหนูน้อยด้วย จากการที่ไม่มีท้องอืด สามารถดื่มนมได้ปริมาณเท่าเดิมในมื้อที่กินนม สามารถดัดแปลงเพิ่มด้วยการเติมผักอื่น เช่น แครอต ผักขม ผักตำลึง เพื่อเด็กมีโอกาสฝึกกินผักได้หลากหลาย
ไข่แดงตับบด (9-10 เดือน)
เครื่องปรุง : ไข่แดงต้มสุก ½ ฟอง
ตับไก่สับละเอียดประมาณ 1 ช้อนโต๊ะ
ไก่สับ 1 ช้อนโต๊ะ
หอมใหญ่สับละเอียด 1 ช้อนชา
เนย 1 ช้อนชา
แครอตต้มสุกสับ 1 ช้อนโต๊ะ
กล้วยน้ำว้าสุกครูด 2 ช้อนโต๊ะ
วีธีทำ
1.ผัดเนยกับหอมใหญ่สับด้วยไฟอ่อน ในหม้อเล็กจนหอมใหญ่สุก เหลืองกลิ่นหอม
2.ใส่ตับไก่สับ ใช้ไฟแรงผัดเร็ว รวนตับให้สุก ลดไฟลงใส่ไก่สับผัดให้เข้ากัน
3.ใส่แครอตสับ กล้วยน้ำว้าครูด ผัดให้เข้ากัน ใช้ไฟอ่อน
4.ใส่ไข่แดงต้มสุก ยีรวมให้เข้ากัน ตักข้าวต้ม 1 ถ้วยคนให้เข้ากัน เคี่ยวไฟอ่อนจนข้าวต้มเปื่อย
Tip
การผัดตับไก่กับเนย ช่วยทำให้ลดกลิ่นคาว ขณะใส่ไข่แดง ใช้หลังทัพพียีเนื้อไก่ ตับไก่ แครอตและกล้วยครูดให้แหลก ช่วยย่นเวลาในการเคี่ยวข้าวต้ม อาจสับตับไก่ให้ละเอียดทำให้ตับไก่สุกเนื้อเนียน ไม่เป็นเม็ด
ตับไก่รวมมิตร (11-12 เดือน)
เครื่องปรุง : ตับไก่สับละเอียด 1 ช้อนโต๊ะ
หมูสับ 1 ช้อนโต๊ะ
ไก่สับ 1 ช้อนโต๊ะ
เต้าหู้อ่อนหั่นเต๋าเล็ก 1 ช้อนโต๊ะ
ต้นหอมหั่นซอย 1 ช้อนชา
ซีอิ๊วขาว ¼ ช้อนชา
แครอตต้มสับ 1 ช้อนโต๊ะ
น้ำมัน 1 ช้อนชา(ขอเป็น รำข้าว มะกอก นะครับ)
น้ำซุปต้มกระดูก ¼ ถ้วย
วิธีทำ
1.นำตับไก่สับไปหมักซีอิ๊ว ¼ ช้อนชา 15 นาที
2.ตั้งกระทะพอร้อน เติมน้ำมัน 1 ช้อนชา พอน้ำมันร้อนใส่ตับไก่ลงรวนพอสุก ตักพักไว้ในจาน
3.เติมน้ำซุปใส่กระทะ พอน้ำซุปร้อนใส่ไก่สับ หมูสับลงรวนสุก เติมแครอต เต้าหู้อ่อน ใส่ตับไก่ที่รวนแล้ว ลงผัดคลุกเข้ากัน โรยต้นหอมผัดจนต้นหอมสุก เสิร์ฟกับข้าวสวยหุงสุกนิ่มหรือ ข้าวต้ม
Tip
เทคนิคผัดตับไก่สุกพักไว้ ทำให้เนื้อตับไม่แข็ง นิ่มอร่อย และไม่คาว อาหารหนูน้อยวัย 11-12 เดือน ลักษณะเนื้อจะหยาบและมีความข้นหนืดขึ้น คุณแม่อาจหั่นตับเป็นชิ้นหนาทอดในน้ำมันประมาณ 1-2 ช้อนโต๊ะ แบ่งตับทอดที่สะเด็ดน้ำมัน สับให้ละเอียดนำมาคลุกทีหลังก็ได้
ข้าวโอ๊ตตับบด
วิธีทำ : ต้มข้าวโอ๊ตจนสุกนิ่มในน้ำซุป ลวกตับในน้ำเดือดจัดจนสุก บดให้ละเอียด ผสมในข้าวโอ๊ต ใส่ซีอิ๊วขาว โรยงาคั่ว พร้อมเสริฟได้เลยครับ
ที่เหลือคุณแม่ไปจินตนาการเอาเองนะครับ ส่วนผม ก็สุกี้บ้าง ผัดกะเพราบ้าง สปาเก็ตตี้บ้าง ขึ้นอยู่กับลักษณะของอากาศในแต่ละวันครับ ดูแลเด็กๆ และร่างกายของตัวท่านเองอย่าให้ป่วยกันนะครับ สวัสดีครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น