หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

เครียดจนปวดหัว

ผู้ป่วยที่ผมเป็นห่วง เครียดจนปวดหัว (หมอนอกกะลา)
ผมใช้ Music Therapy สำหรับตัวผมเองทุกวันด้วยเหตุผลดังนี้ครับ
นอกจากดนตรีจะเป็นสื่อทางศิลปะที่ช่วยจรรโลงใจของมนุษย์ให้มีความรื่นรมย์ เพลิดเพลิน มีความรู้สึกเป็นสุข สนุกสนานและช่วยผ่อนคลายความเครียดแล้ว ตั้งแต่อดีตจนถึงยุคปัจจุบันยังได้มีผู้นำดนตรีเข้ามามีบทบาทในการช่วยบำบัดรักษาและฟื้นฟูทั้งทางจิตใจและร่างกายอีกด้วย

ซึ่งมีการบันทึกเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์เมื่อประมาณ 5,000 ปีมาแล้วว่า ชนชาติกรีกเป็นชนชาติแรกที่นำดนตรีมาบำบัดรักษาอาการป่วยทางจิตใจ รักษาโรคซึมเศร้าและลดความวิตกกังวลของผู้ป่วย ในปัจจุบันได้มีการนำดนตรีเข้ามาฟื้นฟูสมรรถภาพของคนพิการ และช่วยบำบัดรักษาผู้ที่เจ็บป่วยร่างกายและผู้ที่มีปัญหาทางจิตประสาท จึงทำให้เกิดศาสตร์แขนงใหม่ขึ้นที่เรียกว่า “ดนตรีบำบัด” (Music Therapy) ซึ่งเป็นการนำดนตรีมาใช้ในการแพทย์ เพื่อบำบัดรักษาผู้ป่วยทั้งทางด้านจิตใจ อารมณ์และร่างกาย โดยคำนึงถึงวัย และอาการของผู้ป่วย โดยในปี ค.ศ.1944 มหาวิทยาลัยรัฐมิชิแกน (Michigan State University East Lancing) เป็นสถาบันแรกที่นำเอาวิชาดนตรีบำบัดบรรจุไว้ในหลักสูตรการศึกษา แสดงให้เห็นถึงการเป็นที่ยอมรับในทางวิชาการว่าดนตรีบำบัดมีประโยชน์จริงๆ
ดนตรีสามารถนำมาบำบัดรักษาโรคต่างๆ ได้อย่างไรบ้าง
1.ดนตรีช่วยบำบัดรักษาคนพิการ ผู้ป่วยเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต
มีการนำดนตรีมาช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ โดยใช้ดนตรีเข้ามากระตุ้นให้เกิดกำลังใจและกำลังกาย เช่น กรณีของผู้ป่วยเป็นโรคอัมพาต อัมพฤกษ์ ซึ่งการนำดนตรีบำบัดมาใช้กับผู้ป่วยนั้นไม่ได้ทำให้เพื่อให้หายขาดจากโรค
แต่สามารถทำให้ผู้ป่วยมีอาการที่ดีขึ้นได้ โดยเสริมกับการรักษาในรูปแบบอื่นควบคู่ไปด้วยกัน การให้ผู้ป่วยได้เล่นเครื่องดนตรี ได้เคลื่อนไหวร่างกายส่วนต่างๆ ไปตามจังหวะดนตรี เช่น การได้ขยับแข้งขา ได้หมุนข้อมือและข้อศอก ได้งอและเหยียดมือ การกระทำเช่นนี้จะช่วยให้กล้ามเนื้อได้ออกแรง เคลื่อนไหว ยืดและหด จึงทำให้ผู้ป่วยสามารถเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อที่อ่อนแรงได้มากขึ้น เมื่อร่างกายใช้งานได้มากขึ้น ก็จะทำให้ผู้ป่วยเกิดกำลังใจที่จะต้อสู้กับความเจ็บป่วยได้ดีขึ้นตามไปด้วย
2.ดนตรีช่วยบำบัดรักษาผู้ป่วยที่ร่างกายได้รับการบาดเจ็บ
ในกรณีที่ผู้ป่วยประสบอุบัติเหตุจนร่างกายได้รับบาดเจ็บจนไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ตามปกติ การให้ผู้ป่วยได้ทำกิจกรรมดนตรีบำบัดจะช่วยทำให้ผู้ป่วยมีอาการที่ดีขึ้นได้ โดยการฟังเพลงบรรเลงที่มีทำนองช้าเบาสบาย ที่มีเสียงธรรมชาติประกอบ เช่น เสียงนกร้องเบาๆ เสียงฝนหรือน้ำไหลเบาๆ จะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลาย มีจินตนาการไปตามเสียงดนตรี ซึ่งจะช่วยทำให้ผู้ป่วยลดความเจ็บปวดและลดความวิตกกังวลลงได้
3.ดนตรีช่วยบำบัดรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง
เป็นที่ทราบกันว่าผู้ที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งมักจะมีอาการเจ็บปวดร่างกาย โดยเฉพาะผู้ที่เป็นมะเร็งระยะสุดท้าย ซึ่งนอกจากจะเจ็บปวดทางด้านร่างกายมากแล้วยังต้องเผชิญกับความเครียดเป็นอย่างมากอีกด้วย ซึ่งมีงานวิจัยทั้งในไทยและต่างประเทศที่เกี่ยวกับการนำดนตรีบำบัดมาใช้กับผู้ป่วยเป็นโรคมะเร็ง ดังนี้
- Zimmermanและคณะ (1989) พบว่า ดนตรีสามารถช่วยลดความเจ็บปวดในผู้ป่วยมะเร็งได้
- Beck (1991) ศึกษาถึงผลของประเภทดนตรีที่ผู้ป่วยชอบต่อระดับความปวดในผู้ป่วยมะเร็ง โดยให้กลุ่มตัวอย่างเลือกฟังเพลงที่ชอบประเภทผ่อนคลาย 7 ชนิด เช่น เพลงคลาสสิก, แจ๊ส, ร็อก โดยให้เปิดฟังวันละ 2 ครั้งๆ ละนาน 45 นาที เป็นเวลา 3 วัน จากผลการศึกษาพบว่า ความเจ็บปวดลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
- วัลลภา สังฆโสภณ (1993) ศึกษาถึงผลของดนตรีต่อความปวดและทุกข์ทรมานในผู้ป่วยมะเร็ง จากผลการศึกษาพบว่า เมื่อผู้ป่วยได้ฟังดนตรีจะมีความปวดและทุกข์ทรมานน้อยกว่าขณะไม่ได้ฟังดนตรีอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
- Smith M และคณะ (2001) ศึกษาถึงผลของดนตรีต่อการลดความวิตกกังวลของผู้ป่วยมะเร็งในระหว่างการฉายรังสีรักษาพบว่า มีแนวโน้มว่าดนตรีมีส่วนช่วยลดความวิตกกังวลของผู้ป่วยลงได้
4.ดนตรีช่วยบำบัดรักษาผู้ป่วยทางจิตประสาท
ปัจจุบันมีการนำดนตรีมาใช้ในการบำบัดและปรับพฤติกรรมของผู้ป่วยทางจิตประสาทมากขึ้น เพราะดนตรีเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับจิตใจและอารมณ์โดยตรง ดังนั้น การให้ผู้ป่วยทางจิตประสาทได้ทำกิจกรรมดนตรี จะช่วยทำให้อาการป่วยดีขึ้นได้ โดยผู้ป่วยที่มีพฤติกรรมก้าวร้าว มีอารมณ์รุนแรง สามารถบำบัดได้ด้วยการให้ฟังเพลงบรรเลงที่มีทำนองและจังหวะช้าๆ ซึ่งจะมีผลทำให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลาย ใจเย็น และลดความก้าวร้าวลงได้ ส่วนผู้ป่วยที่มีพฤติกรรมซึมเศร้า เครียด เก็บตัว สามารถบำบัดได้ด้วยการให้ฟังเพลงบรรเลงที่มีทำนองและจังหวะร่าเริงแจ่มใส ก็จะช่วยให้ผู้ป่วยมีอารมณ์ดีขึ้นและรู้สึกผ่อนคลายความเครียดมากขึ้น
นอกจากนี้ การให้ผู้ป่วยได้เล่นเครื่องดนตรี เช่น ขลุ่ย กีตาร์ คีย์บอร์ด ก็ยังช่วยให้ผู้ป่วยได้แสดงออกทางด้านอารมณ์ผ่านทางการเล่นดนตรี ซึ่งเป็นการผ่อนคลายความเครียดและช่วยทำให้ผู้ป่วยมองโลกในแง่ดี และมีอารมณ์ดี จึงส่งผลให้ผู้ป่วยทางด้านจิตประสาทซึ่งมีปัญหาทางด้านอารมณ์โดยตรงมีอาการดีขึ้นจนถึงขั้นหายป่วยได้ในที่สุด
นอกจากที่กล่าวมาแล้ว ยังมีการนำดนตรีมาช่วยบำบัดรักษาเด็กพิเศษ ผู้ป่วยเป็นอัลไซเมอร์ ผู้ป่วยด้วยโรคต่างๆ ระยะสุดท้าย เพื่อช่วยให้คนเหล่านี้มีจิตใจที่มีสันติสุข (peaceful) เสียงดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติและมีพลังลี้ลับมหัศจรรย์อยู่ภายในที่สามารถจะช่วยกระตุ้นให้มนุษย์เกิดพลังกายในการต่อสู้กับโรคร้ายและมีพลังใจที่อยากจะมีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้อีกต่อไปนานๆ
ใครชอบแนวไหน ก็ฟังแนวนั้นครับ อย่าดัดจริต และขอให้ทุกคนทุกท่านสุขภาพ กาย ใจ และ สมอง ดีกันทุกคนครับ สวัสดี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น