หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

Metabolic syndrome

Metabolic syndrome (หมอนอกกะลา)
ใครที่มีปัญหาเหล่านี้ อ่านให้เข้าใจครับ อ่านจนจินตนาการแล้วเห็นภาพ แล้วหาวิธีแก้หรือป้องกันเพราะไม่มียาตัวใดรักษาท่านให้หายได้โดยไม่ก่อโรคใหม่ให้ท่านอีกบาน และผมยังยืนยันว่าเราๆท่านๆนี่แหละคือหมอที่ดีที่สุดในโลก
ความอ้วนที่ไขมันสะสมหน้าท้อง
มีไขมันชนิดไตรกลีเซอร์ไรด์สูง
ความดันโลหิตสูง
น้ำตาลในเลือดขณะอดอาหารสูง
ไขมันชนิดดี (high-density lipoprotein; HDL) ต่ำ
ความเครียด

ทำให้เกิดกลุ่มอาการทางเมตาบอลิก (metabolic syndrome) ประมาณ 3-5 ลักษณะ ได้แก่ ความอ้วนที่ไขมันสะสมหน้าท้อง มีไขมันชนิดไตรกลีเซอร์ไรด์สูง ความดันโลหิตสูง น้ำตาลในเลือดขณะอดอาหารสูง ไขมันชนิดดี (high-density lipoprotein; HDL) ต่ำ แม้ว่าปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดกลุ่มอาการ ทางเมตาบอลิกจะเกิดจากกรรมพันธุ์และสภาวะของร่างกาย แต่ยังมีปัจจัยอื่นๆ เช่นรูปแบบการดำเนินชีวิตประจำวันในสังคมสมัยใหม่ การรับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการต่ำ การเคลื่อนไหวร่างกายลดลง ความดันโลหิตสูงขึ้นและเสี่ยงต่อการเกิดภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดมากขึ้น การมีความเครียดจนเกิดภาวะซึมเศร้า จากสิ่งแวดล้อมหรือการทำงานมีความสัมพันธ์ต่อการเพิ่มการหลั่งฮอร์โมนคอร์ติโคสเตอโรนซึ่งกระตุ้นการทำงานของระบบประสาทและฮอร์โมนอื่นๆ ทำให้เกิดสะสมไขมันบริเวณหน้าท้อง และภาวะดื้อต่ออินซูลิน
กลุ่มอาการทางเมตาบอลิก
ผู้ที่มีภาวะของกลุ่มอาการทางเมตา-บอลิกจะเพิ่มโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2และโรคหัวใจและหลอดเลือด (atherosclerotic cardio-vascular disease)
สาเหตุของกลุ่มอาการทางเมตาบอลิก ได้แก่ การรับประทานอาหารประเภทไขมันมากเกินไป ภาวะไขมันสะสมในตับ (fatty liver) โรคของต่อมไทรอยด์ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งภาวะเครียด (stress)
ปัจจัยเสี่ยง
นอกจากปัจจัยด้านพันธุกรรมแล้ว ยังพบปัจจัยเสี่ยงด้านอื่นๆ ของกลุ่มอาการทางเมตาบอลิก ได้แก่
1. โภชนาการและความอ้วน
อาหารประเภทไขมัน คาร์โบไฮเดรต และเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบ เมื่อถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายถ้ามีปริมาณ
เกินกว่าที่ร่างกายต้องการจะสะสมไว้ในรูปแบบของไขมันซึ่งทั้งอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตและโปรตีนสามารถ
เปลี่ยนเป็นไขมันสะสมในร่างกายได้เช่นเดียวกับอาหารประเภทไขมันรายงานการศึกษาเปรียบเทียบการรับประทานอาหารประเภทต่างๆกับการเกิดภาวะของกลุ่มอาการทางเมตาบอลิก พบว่า อาหารประเภทที่มีเส้นใยอาหาร ปลา ผักและผลไม้ มีความสัมพันธ์ในทางลบกับขนาดเส้นรอบวงของเอว ปริมาณไขมันไตรกลี-เซอร์ไรด์
มีรายงานวิจัยความสัมพันธ์ของรีซิสตินกับโรคอ้วนและโรคเบาหวานชนิดไม่พึ่งอินซูลิน พบว่าเนื้อเยื่อไขมันจะมีการผลิตและหลั่งรีซิสติน ซึ่งเป็นโปรตีนฮอร์โมนที่มีฤทธิ์ขัดขวางการทำงานของอินซูลิน โดยรีซิสตินจะถูกหลั่งมากขึ้น ถ้ามีการเพิ่มปริมาณไขมันที่สะสมในร่างกายมากขึ้นโดยเฉพาะไขมันที่เก็บสะสมบริเวณหน้าท้อง ซึ่งพบความสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างรีซิสตินกับปริมาณเนื้อเยื่อไขมันในร่างกาย อย่างไรก็ตามระดับของรีซิสติน มีความสัมพันธ์กับความอ้วน โดยมีบทบาทกระตุ้นให้
ระดับอินซูลิน ระดับกลูโคส และระดับไขมันในเลือดสูงขึ้น
นอกจากนี้ภาวะไขมันสะสมที่หน้าท้องมีความเกี่ยวข้องกับภาวะดื้อต่ออินซูลินและความดันโลหิตสูง นอกจากนี้ยังมีรายงานว่ากลุ่มอาการทางเมตาบอลิกยังพบร่วมกับภาวะไขมันสะสมในตับ ซึ่งส่วนใหญ่สะสมอยู่ในรูปของไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์ ปกติผู้ที่ดื่มสุรามานานจะมีการสะสมของเซลล์ไขมันในตับแต่อาจพบได้ ในผู้ที่ไม่ได้ดื่มสุรา ซึ่งเรียกภาวะนี้ว่า non-alcoholic fatty liver disease (NAFLD) เซลล์ไขมันนี้จะไม่ก่อให้เกิดความเสียหายหรือการอักเสบของตับในระยะแรก แต่ก็มีผู้ป่วยบางส่วนที่ไขมันเหล่านี้ ทำให้เกิดการอักเสบของตับได้ภายหลัง เกิดกลุ่มอาการที่เรียกว่า non-alcoholic steatohepatitis (NASH)
ในที่สุดก็จะกลายเป็นโรคตับแข็ง (cirrhosis) ซึ่งพบว่าร้อยละ 5-8 ของผู้ป่วยไขมันสะสมในตับจะกลายเป็นตับอักเสบและตับแข็ง14 โดยมีรายงานว่าภาวะ oxidative stress มีส่วนทำให้เกิดการอักเสบของตับ
2. เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
มีการศึกษาความสัมพันธ์ของการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กับกลุ่มอาการทางเมตาบอลิก พบว่าปริมาณแอลกอฮอล์มีสัดส่วนผกผันกับปริมาณ
ของ high-density lipoprotein (HDL) cholesterol และการดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนักขนาด ≥30 กรัมต่อวัน มีความสัมพันธ์ต่อการเพิ่มความดันโลหิต และไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์ในเพศชาย เพิ่มน้ำตาลในกระแสเลือดขณะอดอาหาร (fasting blood sugar; FBS) และไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์ในเพศหญิง
การศึกษาแบบตามผลไปข้างหน้า (prospective study) พบว่าการดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนักมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะของกลุ่มอาการทางเมตาบอลิก
3. โรคของต่อมไร้ท่อและยาบางชนิด
โรคที่เกิดจากความผิดปกติของต่อมไร้ท่อเป็นสาเหตุของโรคอ้วนได้ เช่น ต่อมหมวกไตชั้นนอก (adrenal cortex) สร้างฮอร์โมนกลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์มากเกินไป ซึ่งมีผลทำให้เกิดโรค cushing syndrome มีการสะสมไขมันในร่างกาย ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยเกินไป (hypo-thyroidism) ทำให้การเผาผลาญอาหารลดลงมีไขมันสะสมมาก นอกจากนี้ยาบางชนิด เช่น ยาคุมกำเนิด
ชนิดฉีด และชนิดรับประทาน และการใช้ยาสเตียรอยด์เป็นเวลานาน ทำให้มีความอยากอาหารเพิ่มมากขึ้น
4. ความเครียด (stress)
คือ การตอบสนองของร่างกายต่อที่ปัจจัยอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย ปัจจัยใดๆที่กระตุ้นให้เกิดความเครียด เรียกว่า ตัวกระตุ้นความเครียด (stressor) ซึ่งอาจเป็นปัจจัยทางร่างกาย เช่น บาดแผลหรือความเจ็บป่วย หรือทางจิตใจ เช่นความวิตกกังวล ความกลัว ความเศร้าเสียใจ ภาวะเศรษฐกิจ ความขัดแย้งต่างๆที่อาจเกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ตัวกระตุ้นความเครียดที่แตกต่างกันอาจทำให้เกิดการตอบสนองที่จำเพาะต่อตัวกระตุ้นนั้นๆ เช่น การตอบสนองต่อความเย็น คือ อาการหนาวสั่นและ
การหดตัวของหลอดเลือดบริเวณผิวหนัง เพื่อเพิ่มความร้อนและลดการสูญเสียความร้อนจากร่างกาย
ตัวกระตุ้นความเครียดทุกชนิดจะทำให้เกิดการตอบสนองที่มีลักษณะเหมือนๆกัน เรียกว่า general adaptation
syndrome ซึ่งเป็นการตอบสนองที่ถูกควบคุมโดยระบบประสาทและระบบฮอร์โมน คือ
4.1. มีการกระตุ้นการทำงานของระบบประสาทซิมพาทิติค (sympathetic nervous system) ซึ่งจะไปกระตุ้นระบบต่างๆในร่างกายเพื่อต่อสู้หรือถอยหนี (fight-or-flight response) โดยไปเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต และอัตราการหายใจ มีการหดตัวของหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงระบบย่อยอาหารและไต ทำให้เลือดไปเลี้ยงระบบย่อยอาหารและไตลดลง ในขณะที่มีการขยายของหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงหัวใจและกล้ามเนื้อลายให้ได้รับเลือดมากขึ้น เพื่อ
ส่งพลังไปสู่หัวใจและกล้ามเนื้อลายในการต่อสู้หรือถอยหนี
4.2. ฮอร์โมนหลายชนิดเพิ่มระดับสูงขึ้น ได้แก่ การหลั่งฮอร์โมน epinephrine (adrenalin) จากต่อมหมวกไตชั้นใน ซึ่งจะไปเสริมฤทธิ์ของระบบประสาทซิมพาทิติค ในขณะเดียวกันฮอร์โมนเครียด (stress hormone) ในกลุ่มกลูโคคอร์ติคอยด์ (gluco-corticoid) ที่สำคัญคือ cortisol จะถูกหลั่งจากต่อมหมวกไตชั้นนอก โดยจะไปทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น เพื่อไปเลี้ยงระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้ประสาทสัมผัสเฉียบคมขึ้น เพิ่มพลังการเรียนรู้ การจดจำและตื่นตัวมากขึ้น นอกจากนี้ cortisol ยังไปมีผลทำให้ระดับกรดอะมิโนเพิ่มขึ้นซึ่งจะไปช่วยในกระบวนการซ่อมแซมเนื้อเยื่อที่บาดเจ็บหรือเสียหาย
4.3. การกระตุ้นต่อมใต้สมองส่วนหลัง (posterior pituitary gland) ให้หลั่งฮอร์โมน vaso-pressin มีผลทำให้เกิดการหดตัวของหลอดเลือดแดง ทำให้ปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงไตลดลง จึงเกิดการกระตุ้นระบบ rennin-angiotensin-aldosterone system เป็นผล
ให้มีการเพิ่มการดูดกลับของเกลือและน้ำจากท่อไตรวม(collectingduct)กลับเข้าสู่ระบบไหลเวียนเลือดผลคือทำให้ปริมาตรของเลือดในระบบไหลเวียนเพิ่มขึ้นและความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้น การเพิ่มการทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือด การเพิ่มการหายใจ อีกทั้งการมีปริมาณเกลือ น้ำ และสารอาหารในร่างกายมากขึ้นจะเป็นประโยชน์ในภาวะที่ตัวกระตุ้นความเครียดเป็นปัจจัยทางกาย แต่พบว่าการกระตุ้นความเครียดในชีวิตประจำวันส่วนใหญ่เป็นตัวกระตุ้นทางจิตใจ หากมีการกระตุ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานจะส่งผลต่อสุขภาพในทางที่ต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง เริ่มที่ระบบหัวใจและหลอดเลือด หากความดันโลหิตสูงอย่างต่อเนื่องหรือเกิดซ้ำๆ ของเหลวจากกระแสเลือดที่พุ่งแรงเป็นช่วงๆ อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บที่ผนังหลอดเลือดร่วมกับ
การมีระดับน้ำตาลกลูโคส ไขมัน และคอเลสเตอรอลที่เพิ่มขึ้น ทำให้มีโอกาสที่จะไปเกาะติดกับบริเวณหลอดเลือดที่มีปัญหานั้น ทำให้เพิ่มโอกาสในการก่อตัวของคราบหินปูนที่ทำให้หลอดเลือดแดงแข็งตัว ซึ่งจะส่งผลให้เกิดโรคเกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือดได้
4.4. ความเครียดเรื้อรัง ทำให้ระดับของน้ำตาลในกระแสเลือดสูงอย่างต่อเนื่อง อาจก่อให้เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน ทำให้มีไขมันและกลูโคสเหลืออยู่ในกระแสเลือดมากขึ้น จึงเพิ่มโอกาสเสี่ยงของการเกิดโรคเบาหวานในวัยผู้ใหญ่อีกด้วย ในขณะที่ฮอร์โมนเครียดทำให้เกิดการตื่นตัวในช่วงแรกของการตอบสนองต่อความเครียด ระดับความเครียดที่มากและเรื้อรังกลับมีผลในทางตรงกันข้าม โดยจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอาการวิตกกังวล เนื่องจาก cortisol จะไปกระตุ้นให้เซลล์ประสาทในสมองส่วนอะมิกดาลา (amygdala) ซึ่งเป็นศูนย์กลางของความกลัวและวิตกกังวลทำงานมากขึ้น (hyperexcitability) ขณะเดียวกันเซลล์ประสาทในสมองส่วนฮิปโปแคมปัส (hippocampus) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเรียนรู้และความทรงจำ และในเปลือกสมองส่วนหน้า
ซึ่งเป็นศูนย์กลางของการตัดสินใจจะฝ่อเล็กลง (atrophy) ทำให้ความสามารถในการเรียนรู้และการตัดสินใจจึงเลวลง นอกจากนี้พบว่าความเข้มข้นของสารสื่อประสาทชนิด dopamine ในสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับความสุขจะลดลงด้วย ทำให้เสี่ยงต่ออาการซึมเศร้า
มีรายงานความสัมพันธ์ระหว่างความเครียดจากการทำงานกับกลุ่มอาการทางเมตาบอลิก พบว่าผู้ที่มีความเครียดจากงานมีโอกาสเป็น metabolic syndrome 2 เท่า ของผู้ที่ไม่มีภาวะเครียด โดยผู้ที่มีความเครียดสะสมมากกว่าจะมีความเสี่ยงต่อโรคมากกว่า
เมื่ออ่านจนนึกภาพออกแล้ว ก็ให้จินตนาการดูว่าจะระงับเหตุกันอย่างไร วางแผนให้กับร่างกายจะได้ใช้แบบดี ๆ ไปนาน ๆ นะครับ และถ้านึกไม่ออกก็ถามมา ไม่มีปัญหาครับ ก่อนลาก็ขอให้ทุกคนทุกท่านมีสุขภาพดีครับ สวัสดีครับ
เอกสารอ้างอิง
1. Grundy SM, Brewer HB Jr, Cleeman JI, et al. Definition of metabolic syndrome: report of the National Heart, Lung and Blood Institute/American Heart Association Conference on scientific issues related to definition. Circulation 2004; 109: 433 - 8.
2. Grundy SM, Cleeman JI, Daniels SR, et al. Diagnosis and management of the metabolic syndrome: an American Heart Association/National Heart, Lung, and Blood Institute Scientific Statement. Circulation 2005; 112: 2735 - 52.
3. Lorenzo C, Williams K, Hunt KJ, et al. The National Cholesterol Education Program–Adult Treatment Panel III, International Diabetes Federation, and World Health Organization definitions of the metabolic syndrome as predictors of incident cardio- vascular disease and diabetes. Diabetes Care 2007; 30: 8 - 13.
4. Park YW, Zhu S, Palaniappan L, et al. The metabolic syndrome: prevalence and associated risk factor

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น