หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

โฮโมซีสเทอีน

โฮโมซีสเทอีน ตัวการร้ายก่อให้เกิดโรคหัวใจขาดเลือดและอัมพาต
ปัจจุบันอัตราการเสียชีวิตของประชากรโลก เกิดจากโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมีสาเหตุมาจากการที่มีไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง การสูบบุหรี่ เป็นต้น แต่น่าแปลกที่พบว่า ประมาณ 25-30 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือดที่รับตัวไว้ในโรงพยาบาล มีไขมันในเลือดปกติ ความดันปกติ ไม่สูบบุหรี่ แสดงว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้จะต้องมีปัจจัยเสี่ยงชนิดอื่นที่ยังไม่ได้รับการตรวจหา
มีสักกี่คนที่รู้และเข้าใจถึงความร้ายกาจของโฮโมซิสเตอีน (Homocysteine) โดยเฉพาะความร้ายกาจหรืออันตรายต่อภาวะโรคหลอดเลือดหัวใจเช่นเดียวกับคอเลสเตอรอล
โฮโมซิสเตอีน คืออะไร โฮโมซิสเตอีน (Homocysteine) เกิดจากการเผาผลาญกรดอะมิโนจำเป็นในร่างกาย ที่มีชื่อว่า เมทไธโอนิน (Methionine) สารชนิดนี้พบมากในเนื้อสัตว์ ไข่ นม ชีส แป้งขาว อาหารบรรจุกระป๋อง และอาหารที่ผ่านกระบวนการดัดแปลงสูง ร่างกายของเราต้องการเมทไธโอนิน (Methionine) เพื่อการมีชีวิตอยู่ที่ดี มีความสมดุลต่อระบบการทำงานของร่างกายในส่วนของระบบการย่อย การเผาผลาญสารอาหาร ระบบการดูดซึมสารอาหาร และระบบการลดสารที่เกินความจำเป็นหรือเกินความต้องการของร่างกาย ร่างกายมักจะเปลี่ยน Homocysteine เป็นซิสเตอีน (Cysteine)หรือเปลี่ยนกลับมาเป็นเมทไธโอนิน(Methionine)

Cysteine กับ Methionine เป็นผลิตผลที่ไม่มีพิษภัยต่อระบบการทำงานของร่างกาย แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่าเอ็นไซม์ที่ใช้ในการย่อยและเผาผลาญ Homocysteine เป็น Cysteine หรือเปลี่ยนกลับมาเป็น Methionine อีกครั้งหนึ่ง จะต้องใช้กรดโฟลิก วิตามินบี 12 และวิตามินบี 6 เพื่อทำให้ภารกิจเสร็จสิ้น ดังนั้นหากเรามีสารอาหารเหล่านี้ไม่เพียงพอแล้ว ระดับของ Homocysteine ในเลือดจะกลับมาสูงขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่เคยเข้าใจหรือไม่เคยมีความรู้เกี่ยวกับกลไกการทำงานของกระบวนการนี้ในร่างกายเรา จึงอยากจะนำเสนอผลงานการวิจัยที่เกี่ยวข้องจากนักวิทยาศาสตร์ที่ได้ทำการศึกษาค้นคว้าและมีความเชี่ยวชาญ
ในปี ค.ศ.1960 ดร.คิลเมอร์ แม็คคูลลี่ ซึ่งเป็นนักวิจัยทางด้านการแพทย์ที่มีชื่อเสียงในการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างศาสตร์ทางด้านชีวเคมีและโรคภัยไข้เจ็บแห่งโรงเรียนทางการแพทย์ฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา จากผลงานวิจัยเรื่องนี้ ดร.แม็คคูลลี่ จึงได้รับตำแหน่งอันทรงเกียรติของการเป็นนักพยาธิวิทยาที่โรงพยาบาลแม็สซาชูเซทซ์ เจเนอรอล และเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ทางพยาธิวิทยาที่โรงเรียนทางการแพทย์ฮาร์ดวาร์ด ได้ทำการศึกษาผลของ Homocysteine ต่อระบบการทำงานของร่างกาย ปริมาณที่มีผลต่อภาวะการเจ็บป่วย โดยสนใจและได้ศึกษาโรคในเด็ก ที่เรียกว่า Homocystinuria ซึ่งเป็นโรคที่เกิดขึ้นในเด็กที่มีสาเหตุมาจากความบกพร่องทางพันธุกรรม เป็นเหตุให้มีการสลายกรดอะมิโนจำเป็น Methionine ผลตามมาที่เห็นได้ชัดเจนคือ ร่างกายเด็กเหล่านี้มีการสร้างโฮโมซิสเตอีนมากขึ้น ดร.แม็คคูลลี่จึงเริ่มทำกรณีศึกษาในเด็กผู้ชาย 2 คน เพราะมีความแปลกใจกับการเสียชีวิตของเด็กผู้ชายกลุ่มนี้ ซึ่งยังมีอายุไม่ถึง 8 ขวบจากภาวะหัวใจล้มเหลว เมื่อวิเคราะห์การตรวจสอบแล้วพบว่ามีผลร้ายที่รุนแรงเกิดขึ้นในหลอดเลือดซึ่งเป็นอาการเช่นเดียวกับที่ผู้ใหญ่ประสบภาวะหลอดเลือดแข็งตัวขั้นวิกฤติ จากผลการตรวจสอบนี้ ดร.แม็คคูลลี่เกิดความสงสัยและศึกษาต่อว่าระดับ Homocystein ที่เพิ่มขึ้นเป็นสาเหตุของโรคหัวใจ โดยสาเหตุจากความบกพร่องดังกล่าว
กระบวนการทางชีวเคมีที่เกิดขึ้นในร่างกายเพื่อเผาผลาญและย่อยสลาย Homocysteine เรียกว่ากระบวนการ Methylation ที่น่าวิตกมากไปกว่านั้นคือ หากกระบวนการ Methylation มีปัญหาและเกิดได้ไม่สมบูรณ์จะไม่เพียงส่งผลต่อการลดระดับ Homocysteine ในเลือดเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อการสร้างปัญหาให้เกิดโรคเกี่ยวกับความเสื่อมเรื้อรัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคมะเร็งและโรคอัลไซเมอร์
Homocysteine เป็นสารเคมีที่เกิดจากเมตาบอลิซึมของ Methionine ซึ่งร่างกายได้รับจากอาหารประเภทโปรตีน โดยปกติระดับของ Homocysteine ในเลือดอยู่ระหว่าง 5-15 µmol/L ถ้าระดับของ Homocysteine ในเลือดเพิ่มสูงขึ้นก็จะทำให้เกิดความเสียหายต่อผนังด้านในของหลอดเลือด (endothelial damage) ทีละน้อย จนในที่สุดทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดอุดตัน
Homocysteine เป็นสารที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผนังด้านในของหลอดเลือดโดยตรง ดังนั้นถ้า Homocysteine ในเลือดเพิ่มสูงขึ้นเป็นเวลานานๆ ติดต่อกัน ผนังด้านในหลอดเลือดจะเริ่มขรุขระและเริ่มมี plaque เกิดขึ้นตามมาในที่สุดก็เกิดการอุดตัน หรือ ตีบแคบลงนำไปสู่ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายจากการขาดเลือด หากได้รับการตรวจเช็คและแก้ไขเสียแต่เนิ่นๆ การก่อความเสียหายต่อผนังหลอดเลือดก็จะน้อยลง ทำให้เกิดหลอดเลือดหัวใจอุดตันหรือตีบแคบลงตามไปด้วย
การเพิ่มสูงของ Homocysteine ในเลือดยังส่งผลเสียต่อหลอดเลือดทั่วร่างกายโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลอดเลือดที่มีขนาดเล็ก เช่น หลอดเลือดในสมอง ดังนั้นการมีระดับ Homocysteine ในเลือดเพิ่มขึ้นก็อาจก่อให้เกิดอาการ อัมพฤกษ์ หรือ อัมพาต จากการตีบตันของหลอดเลือดในสมองได้เร็วกว่าวัยอันควร
Cholesterol กับ Homocysteine
พบว่าประมาณ 25-30% ของผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือดที่รับตัวไว้ในโรงพยาบาลไม่พบปัจจัยเสี่ยงสำคัญๆ เช่น ไขมันในเลือดสูง, ความดันสูง, สูบบุหรี่ เป็นต้น แสดงว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้จะต้องมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่ยังไม่ได้รับการตรวจสอบ ปัจจุบันพบว่า Homocysteine มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า Cholesterol งานวิจัยจากหลายสถาบันในสหรัฐอเมริกา พบว่าการมีระดับ Homocysteine ในเลือดเพิ่มสูงขึ้นทำให้อัตราการเสี่ยงจากโรคหัวใจขาดเลือดเพิ่มสูงกว่า 2 เท่า ของคนที่มีระดับ Homocysteine ปกติ
ลักษณะอาการผิดปกติเมื่อค่าของสารโฮโมซีสเทอีนสูงจะมีลักษณะอย่างไร
อาการจะมีลักษณะคล้ายกับอาการของภาวะไขมันในเลือดสูงเหมือนกัน อาจมาพบแพทย์ด้วยเรื่องของอาการเจ็บแน่นหน้าอก ในกรณีของผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด หรือมีอาการอัมพฤกษ์ - อัมพาตเกิดขึ้น ในกรณีของผู้ป่วยที่มีปัญหาของหลอดเลือดโดยทั่วไปในสมองอุดตัน
วิธีการป้องกันไม่ให้สารโฮโมซีสเทอีนมีค่าสูงขึ้น
เนื่องจากสารโฮโมซีสเทอีนในเลือดเกิดจากการรับประทานอาหารโปรตีนมากเกินไป เพราะฉะนั้น ถ้าเราไม่ต้องการให้เลือดมีระดับของสารโฮโมซีสเทอีนที่สูงกว่าความเป็นจริง เราก็ควรลดอาหารโปรตีนลงมา แล้วเพิ่มกลุ่มอาหารประเภทผักและผลไม้มากขึ้น พฤติกรรมการรับประทานแบบไทยๆ ดีอยู่แล้ว เพราะจะทำให้ระดับโฮโมซีสเทอีนในเลือดไม่สูงเกินไป และไม่ทำอันตรายต่อร่างกาย และถ้าเราไม่แน่ใจว่ารับประทานอาหารกลุ่มต่างๆ ได้เพียงพอ แพทย์สามารถสั่งวิตามินที่มีความสำคัญในการลดระดับของโฮโมซีสเทอีนในเลือดลงมาได้ ก็จะทำให้ระดับโฮโมซีสเทอีนในเลือดไม่สูงเกินความเป็นจริงที่ควรจะเป็น อันตรายก็จะไม่เกิดขึ้นกับผนังหลอดเลือด
สารโฮโมซีสทีนจะขับออกมาทางปัสสาวะ คือ ทางไต เพราะฉะนั้น การออกกำลังกายเป็นประจำ จะช่วยทำให้ระบบเลือดหมุนเวียนดีขึ้น ระบบสูบฉีดโลหิตดี สารโฮโมซีสเทอีนก็จะถูกขับถ่ายออกทางไตได้ดีมาก และจะเผาผลาญไขมันส่วนอื่นออกไปด้วย นอกจากนี้ การตรวจวัดระดับโฮโมซิสทีนอยู่เสมอ จะทำให้ทราบถึงความเสี่ยงต่อการเกิดโรคร้ายดังกล่าวได้ดี อีกทั้งยังสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เหมาะสมต่อภาวะสุขภาพร่างกายของตนได้อีกด้วย เพื่อลดความเสี่ยงจากการเผชิญกับโรคภัยต่างๆ
Cr: นพ.ฉัตรชัย ศรีบัณฑิต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น